ซ่อมบำรุงอาคาร: วิธีประหยัดไฟช่วง Work From Home จบปัญหาค่าไฟพุ่งตอนสิ้นเดือน ถึงแม้การทำงานที่บ้าน (Work From Home) จะมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งช่วยเพิ่มเวลาให้กับชีวิต ช่วยลดปัญหารถติด และช่วยบรรเทาความเสี่ยงโควิด 19 แต่ก็แอบมีจุดด้อยอยู่บ้างเล็กน้อยเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือการใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ค่าไฟสูงปรี๊ดตามขึ้นมาด้วยนั่นเอง อ๊ะ ๆ ๆ แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้ได้รวบรวมวิธีประหยัดไฟในบ้านในช่วงทำงานที่บ้านมาฝาก จะมีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
1. เปิดหน้าต่างรับลมและแสงธรรมชาติ
การเปิดหน้าต่างในช่วงทำงานที่บ้าน ถือเป็นทางเลือกประหยัดไฟที่ดีไม่น้อย เพราะช่วยให้แสงและลมธรรมชาติหมุนเวียนเข้ามาในบ้านได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้บ้านสว่างและเย็นสบายได้แบบไม่ต้องเปิดไฟหรือแอร์สักนิด อีกทั้งการปล่อยให้อากาศถ่ายเทสะดวก ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
2. ใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดไฟชนิดอื่น
เมื่อเทียบกับหลอดไฟแบบเดิม ทั้งหลอดไส้และหลอดฟลูออเรสเซนต์แล้ว หลอดไฟ LED ให้ความสว่างมากกว่า แต่ใช้พลังงานน้อยกว่า และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงออกมาแนะนำให้ทุกคนเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED กันมากขึ้น โดยมีข้อมูลระบุว่า หลอดไฟ LED ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 80% แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากอีกด้วย
3. ตั้งค่าโน้ตบุ๊กเป็น Sleep Mode เมื่อไม่ได้ใช้งาน
ในช่วงที่เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น หรือไม่ได้ใช้โน้ตบุ๊กในการทำงาน ทว่ายังคงปิดไม่ได้ ต้องเปิดเอาไว้อยู่ ขอแนะนำให้ปรับการตั้งค่าเป็น Sleep Mode หรือโหมดประหยัดพลังงาน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะปรับแสงหน้าจอไม่ให้สว่างเกินไป เพื่อเป็นการเซฟไฟและเซฟแบตเตอรี่ไปในตัวนั่นเอง
4. ใส่หูฟังเมื่อฟังเพลง
การฟังเพลงก็มีผลกระทบต่อการประหยัดพลังงานเช่นเดียวกัน เนื่องจากการใช้หูฟังช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีควรเลือกใช้เป็นหูฟังแบบมีสาย เพราะเมื่อเทียบกับหูฟังแบบไร้สายแล้ว จะใช้กระแสไฟฟ้าน้อยกว่า แถมยังมีคุณภาพเสียงดีกว่าอีกด้วย
5. ปิดเครื่องและถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน
ถึงแม้จะไม่ได้เชื่อมต่อหรือใช้งานอุปกรณ์แก็ดเจ็ต อุปกรณ์ไร้สาย รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ แล้ว แต่ถ้าหากยังคงเสียบปลั๊กไว้ เครื่องก็จะมีการทำงานและมีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ ฉะนั้นถ้าหากใครอยากประหยัดพลังงานและลดการใช้ไฟฟ้าละก็ ต้องปิดเครื่องและถอดปลั๊กหลังจากเลิกใช้งานทุกครั้งในทันที
6. กำหนดเวลาเปิด-ปิดแอร์
หลังจากเลือกมุมทำงานได้เรียบร้อยแล้ว ให้กำหนดระยะเวลาการใช้ไฟฟ้าอย่างชัดเจน เหมือนกับตอนทำงานที่ทำงาน เช่น เปิดแอร์และเปิดไฟเวลา 09.00-12.00 น. ปิดตอนเที่ยง และกลับมาเปิดอีกทีเวลา 13.00-18.00 น. นอกจากนี้ถ้าหากเห็นว่าอะไรไม่จำเป็นในช่วงไหนก็ควรปิดซะ เช่น ตอนเช้ามีแสงสว่างมากพอ ก็อาจจะไม่ต้องเปิดไฟก็ได้ หรือวันไหนที่อากาศดี ก็อาจจะไม่ต้องเปิดแอร์ก็ได้
7. เปิดแอร์พร้อมกับพัดลม
การเปิดแอร์พร้อมกับพัดลมช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าการเปิดแอร์อุณหภูมิต่ำเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพัดลมมีส่วนช่วยในการเพิ่มความเร็วลมและเพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ จึงทำให้ร่างกายระบายความร้อนและรู้สึกเย็นสบายมากยิ่งขึ้นได้ ฉะนั้นจึงมีคำแนะนำออกมาว่า ให้ทุกคนเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียล แล้วเปิดพัดลมช่วย อากาศในห้องก็จะเย็นสบายเหมือนกับอุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียล แบบไม่ต้องลดอุณหภูมิแอร์ แถมได้ประหยัดไฟไปในตัว อย่างไรก็ตามเคล็ดลับนี้จะช่วยประหยัดได้มาก-น้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของแอร์ด้วย ทั้งนี้ยังมีเคล็ดลับเสริมอีกว่า ให้เปิดหน้าต่างเพื่อถ่ายเทอากาศก่อนเปิดแอร์ และให้ปิดแอร์เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงก่อนเลิกใช้งานด้วยนั่นเอง
8. ซักผ้าและรีดผ้าคราวละมาก ๆ
แม้ว่าการทำงานที่บ้านจะช่วยให้เรามีเวลาทำงานบ้านได้มากขึ้น แต่ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการซักผ้าหรือรีดผ้าทุกวัน เนื่องจากเครื่องซักผ้าและเตารีดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก ถ้าหากรวบรวมเป็นกองใหญ่ แล้วทำพร้อมกันในครั้งเดียว จะช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าการแบ่งเป็นกองเล็กกองน้อย แล้วทำหลายครั้ง อ้อ นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงการรีดผ้าในห้องแอร์ด้วย เนื่องจากแอร์มีหน้าที่ทำให้ห้องเย็น ก็เลยทำให้เตารีดต้องทำงานหนักมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเตารีดก็ยังมีหน้าที่ถ่ายเทความร้อน จึงทำให้แอร์ต้องทำงานหนักตามไปด้วยอีก งานนี้ก็เลยส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งสองอย่างกินไฟเพิ่มขึ้นกว่าปกตินั่นเอง
9. จัดของในตู้เย็นให้เป็นระเบียบ
การเก็บของไว้ในตู้เย็นเป็นจำนวนมาก สามารถทำให้ตู้เย็นมีความเย็นลดลงและต้องทำงานหนักมากขึ้นได้ ฉะนั้นแทนที่จะจับทุกอย่างแช่หรือยัดไว้ในตู้เย็น ควรเปลี่ยนมาจัดระเบียบตู้เย็นให้เรียบร้อย เลือกของที่จะใส่ให้เหมาะสม เก็บตุนของในปริมาณพอสมควร และหมั่นเคลียร์ของเสียออกเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ตู้เย็นไม่ใช้ไฟฟ้ามากเกิน พร้อมทั้งช่วยประหยัดไฟไปในตัว