โรคเบาหวานอันตราย แตกต่างอย่างไรใน 4 ชนิดคำว่า ‘เบาหวาน’ มาจากคำว่า ‘เบา’ กับคำว่า ‘หวาน’ เบาก็คือปัสสาวะ ส่วนหวานในที่นี้หมายถึงการมีน้ำตาลผสมอยู่ ‘เบาหวาน’ จึงมีความหมายว่า ปัสสาวะหวาน นั่นเพราะมีน้ำตาลในปัสสาวะ นั่นเอง
ส่วนโรคเบาหวาน ก็คือโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลสูงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา และโรคของระบบประสาท
โรคเบาหวาน 4 ชนิด แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
โรคเบาหวานสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามเกณฑ์ของสมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) ซึ่งแบ่งตามสาเหตุการเกิดของโรค ได้แก่
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
เป็นโรคที่กิดจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักพบในเด็ก คนอายุน้อย รูปร่างไม่อ้วน อาการของโรคคือ ปัสสาวะมาก กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด บางครั้งอาการของโรคอาจเกิดรวดเร็วและรุนแรง เช่น เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนคั่ง
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
เบาหวานชนิดนี้เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด พยาธิสภาพที่สำคัญซึ่งพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ คือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่วมกับการที่เบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้อินซูลินลดลงเรื่อยๆ มักพบในคนอายุ 30 ปีขึ้นไป รูปร่างท้วมหรืออ้วน อาการมักไม่ค่อยรุนแรง เป็นแบบค่อยๆ เป็น สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นี้ เป็นผลร่วมกันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม น้ำหนักตัวที่มาก การขาดการออกกำลังกาย
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก และระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะเบาหวานชนิดนี้มักจะเป็นภาวะเบาหวานแอบแฝง คือ ถ้าอดอาหารแล้วมาเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับน้ำตาลจะปกติ แต่ถ้าให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำหวาน (75 gram oral glucose tolerance test) ร่างกายจะไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยทั่วไปโรคเบาหวานชนิดนี้มักจะหายได้หลังคลอด
โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ
เป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม (MODY- Maturity-Onset Diabetes of the Young), โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน , จากยา, หรือโรคเบาหวานที่พบร่วมกับกลุ่มอาการต่างๆ เช่น Down syndrome, Turner syndrome, Prader-Willi syndrome
แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต (lifestyle modification) เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน ประกอบด้วย การรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ การออกกำลังกายที่เหมาะสม นอนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ตัวอย่างการปรับเปลี่ยน เช่น
การควบคุมอาหาร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การใช้ยาจะได้ผลไม่ดี หากขาดการควบคุมอาหาร การควบคุมอาหารไม่ได้หมายถึงการลดปริมาณอาหาร แต่เป็นการรับประทานอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและชนิดของอาหาร คนที่มีน้ำหนักมากเกินจะต้องลดปริมาณอาหาร ในขณะที่คนที่น้ำหนักน้อยกว่าปกติ ต้องรับประทานอาหารให้มากขึ้น เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ปริมาณน้ำตาลที่ได้รับตลอดวันต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของพลังงานรวม (ประมาณ 3-5 ช้อนชา) บริโภคอาหารที่มีกากใยสูง ให้ได้ใยอาหาร 14 กรัม ต่ออาหาร 1,000 กิโลแคลอรี อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งน้ำผึ้งและน้ำผลไม้ ควรรับประทานผลไม้รสหวานในปริมาณที่พอเหมาะ และควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด
การออกกำลังกายจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และทำให้ระดับไขมันในเลือดดีขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังทำให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ควรตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายและประเมินสุขภาพก่อนเริ่มออกกำลังกาย ว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจหรือไม่ ควรเริ่มออกกำลังกายในขนาดเบาแล้วเพิ่มขึ้นช้าๆ จนถึงระดับหนักปานกลาง คือให้ชีพจรเท่ากับร้อยละ 50-70 ของชีพจรสูงสุด และควรออกกำลังกายให้ได้ถึง 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น ออกกำลังกายวันละ 30-50 นาที 3-5 วัน ต่อสัปดาห์
การใช้ยาจะเป็นลำดับสุดท้ายในการรักษาโรคเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้จากการคุมอาหารและออกกำลังกาย ก็จำเป็นต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายกลุ่มทั้งยากินและยาฉีด ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดและสภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย