จุดจบโควิด 19 เมื่อกลายเป็นโรคประจำถิ่นการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อมาเกือบสองปี และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นระยะเวลายาวนาน ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนหลายชนิด และยาอย่างน้อยสองชนิดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิดได้โดยตรงซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมโรคระบาด แต่มีคำถามต่อมาว่า เมื่อไหร่โรคโควิด 19 จะไม่เป็นโรคระบาดอีกต่อไป แต่เป็นเพียงสายพันธุ์หนึ่งของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า อิทธิฤทธิ์ของโรคโควิด 19 จะลดลง และสามารถควบคุมได้ และไม่เป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุข
ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา อาร์โน มอลโต กล่าวว่ามันเป็นเรื่องของมุมมองว่าโรคโควิด 19 จะเป็นโรคระบาดหรือโรคประจำถิ่นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโรค แต่ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเชื้อไวรัสมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตโรคโควิด19 จะเป็นแบบไหน
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าโรคระบาดจะจบสิ้นเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตามเขามีความเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด 19 จะไม่แตกต่างจากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดตามฤดูกาล เนื่องจากมีตัวอย่างมาหลายกรณีแล้วว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าในที่สุดจะกลายเป็นสายพันธุ์ประจำฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ว่ายังไม่มีใครรู้ว่าโควิด 19 จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แต่อย่างน้อยมันก็มีความน่าจะเป็นว่า จะเป็นเช่นนั้น
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบาดวิทยาหลายคนเชื่อว่าโรคโควิด 19 ในอนาคตจะไม่เป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณะสุขหรือการใช้ชีวิตของคนทั่วไป ถ้ามีการฉีดวัคซีนอยางครอบคลุมทั่วโลกภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และการติดเชื้ออาจมีมากน้อยได้ตามสถานการณ์แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ในขณะที่กรมสุขภาพและบริการบุคคลในสหรัฐอเมริกาเอง กำลังพิจารณาถึงแนวทางที่จะนำมาใช้พิจารณาในการประกาศการสิ้นสุดของการระบาดของโรคโควิด 19 และวิธีเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคเมื่ออยู่ในสถานะโรคประจำถิ่น แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นมีหลายสิ่งที่จะต้องเตรียมการ โดยประการแรกจะต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโดยการฉีดวัคซีน ในสหรัฐอเมริกาเอง ยังมีบางกลุ่มที่ปฎิเสธการฉีดวัคซีนและไม่ยอมสวมหน้ากาก
ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกนานที่จะประกาศการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาด ไปยังโรคประจำถิ่น ปัจจุบัน 58% ของประชากรในสหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนครบโดส ซึ่งในความเป็นจริงควรได้รับวัคซีนประมาณ 80-90% ของจำนวนประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการเกิดภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อในปริมาณเดียวกัน โดยเทียบเคียงจากการระบาดของโรคหัด ในอเมริกา ซึ่งจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 95% ของประชากร
ปัจจุบันตัวเลขการติดเชื้อรายวันในสหรัฐอเมริกายังคงสูงอย่างต่อเนื่อง อัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000 รายต่อวัน และอัตราตายก็ยังสูงถึง 1,000 รายต่อวัน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็ทำการรณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่เชื้อสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการเร่งให้มีการฉีดวัคซีน และรวมถึงการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอื่นๆ เช่น การล้างมือ การรักษาระยะห่าง และการสวมหน้ากากในที่สาธารณะเป็นต้น
นอกจากนี้สำนักงานควบคุมโรค ของสหรัฐออกมาให้คำแนะนำว่าประชาชนทุกคน รวมถึงทารกที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปควรจะต้องได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประชากรเพียง 51.8% ปฎิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งมีการประเมินกันว่าโรคไข้หวัดใหญ่คร่าชีวิตประชากรประมาณ 12,000-52,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เสียชีวิตมีมากกว่า 750,000 ราย
“เรากำลังคิดว่าเมื่อโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สถานการณ์ตอนนั้นจะเป็นอย่างไร และข้อมูลแบบไหนที่เราต้องให้ความสำคัญในการรายงาน ตอนนี้เราเก็บข้อมูลจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต แต่คำถามที่สำคัญคือตัวชี้วัดในอนาคตจะใช้แบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งตัวอย่างของการรายงานไข้หวัดใหญ่ในระบบปัจจุบัน อาจจะสามารถนำมาปรับใช้ได้ในกรณีของโรคโควิด”ดร.ราเชล วาเลนสกาย ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค กล่าวกับคณะกรรมาธิการรัฐสภา
ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายพื้นที่ แต่การเปลี่ยนผ่านจากภาวะโรคระบาด ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะการฉีดวัคซีนยังไม่มีความครอบคลุมเพียงพอ การกระจายวัคซีน หรือการกระจุกตัวของวัคซีนในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้เป็นปัญหาอย่างมากต่อการเข้าถึงวัคซีนในประเทศด้อยโอกาส ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะออกมาขอความร่วมมือในการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ในราคาที่เข้าถึงได้ แต่ก็ยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่า สายพันธุ์ใหม่จะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ และถ้าโชคร้าย โลกยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดของเชื้อโควิดไปอีกหลายปี