ถั่วขาว ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ ?ถั่วขาว เป็นพืชในตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยสารอาหารหลากชนิด เช่น โปรตีน ไฟเบอร์ รวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หลายคนจึงเชื่อว่าการรับประทานถั่วขาวสามารถช่วยลดน้ำหนัก และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งดีต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
ข้อมูลทางโภชนาการของถั่วขาว
ถั่วขาวดิบปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย
น้ำ 11.32 กรัม
พลังงาน 333 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 23.36 กรัม
ไขมัน 0.85 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 60.27 กรัม
ไฟเบอร์ 15.2 กรัม
น้ำตาล 2.11 กรัม
แคลเซียม 240 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 10.44 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 190 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 301 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 1,795 มิลลิกรัม
โซเดียม 16 มิลลิกรัม
สังกะสี 3.67 มิลลิกรัม
วิตามินบี 1 0.437 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.146 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 0.479 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.318 มิลลิกรัม
วิตามินบี 9 หรือโฟเลท 388 ไมโครกรัม
ส่วนคำกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของถั่วขาวนั้น จริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับถั่วขาวไว้ ดังนี้
ถั่วขาวกับการลดน้ำหนัก
การมีน้ำหนักตัวเกินอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยการดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างถั่วขาวก็อาจช่วยลดน้ำหนักลงได้ จากการศึกษาโดยให้อาสาสมัครผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเล็กน้อยและผู้ที่มีน้ำหนักตัวคงที่มาตลอดอย่างน้อย 6 เดือนจำนวน 82 คน รับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากถั่วขาวปริมาณ 445 มิลลิกรัม ก่อนรับประทานอาหารมื้อหลักที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงเป็นเวลา 30 วัน พบว่าอาสาสมัครมีน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย มวลไขมันในร่างกาย ความหนาของเนื้อเยื่อไขมันรอบเอว สะโพก และต้นขาลดลง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของมวลกล้ามเนื้ออย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักเป็นผลมาจากสารยับยั้งอะไมเลสของถั่วขาวที่ออกฤทธิ์แทรกแซงการย่อยคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล และยังอาจช่วยลดปริมาณแคลอรี่จากคาร์โบไฮเดรตได้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของถั่วขาวต่อการลดน้ำหนักเช่นเดียวกัน โดยทดลองให้ผู้ที่มีสุขภาพดีจำนวน 25 คน รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งก่อนมื้ออาหารร่วมกับทำกิจกรรมการลดน้ำหนักอื่น ๆ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่ากลุ่มที่รับประทานถั่วขาวมีน้ำหนักตัวลดลง 2.72 กิโลกรัม และมีรอบสะโพกลดลง 2.2 นิ้วอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งลดลงมากกว่าอีกกลุุ่มที่ไม่ได้รับประทานถั่วขาวซึ่งมีน้ำหนักตัวลดลง 2.13 กิโลกรัม และมีรอบสะโพกลดลง 2.1 นิ้ว
แม้การศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของถั่วขาวต่อการลดน้ำหนัก แต่เป็นเพียงการศึกษากับผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวนน้อยและทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่วขาวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ถั่วขาวกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน และอาจเป็นสาเหตุให้เส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายเกิดความเสียหาย โดยผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงไม่มากนัก อาจลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งถั่วขาวเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่อาจมีผลดีในด้านนี้ จากการศึกษาโดยให้ผู้ที่มีน้ำหนักปกติซึ่งมีค่าดัชนีมวลกาย 18-25 จำนวน 13 คนรับประทานขนมปังขาวทาเนยกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วขาวชนิดแคปซูลหรือชนิดผง พบว่าถั่วขาวชนิดผงปริมาณ 3,000 มิลลิกรัม อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นการวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองในคนเฉพาะกลุ่ม จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงอาจให้ผู้ทดลองรับประทานถั่วขาวเปรียบเทียบกับอาหารประเภทอื่น ๆ ด้วย เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของถั่วขาวให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป
บริโภคถั่วขาวอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?
การบริโภคถั่วขาวอย่างปลอดภัยนั้น ผู้บริโภคควรปรุงถั่วขาวให้สุกก่อนเสมอ เพื่อกำจัดสารเคมีบางชนิดบนเปลือกถั่วขาวสดที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง หรือท้องเสีย และควรบริโภคถั่วขาวในปริมาณที่พอดี เพราะหากรับประทานในปริมาณมาก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอจะระบุปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคถั่วขาว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วขาวได้ ดังนั้น ก่อนรับประทานถั่วขาว ผู้บริโภคควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของตนด้วย เช่น อายุ หรือปัญหาสุขภาพ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคถั่วขาวหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากถั่วขาวเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรบริโภคถั่วขาวอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วขาว เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับประทานถั่วขาวในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตร
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เนื่องจากถั่วขาวอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง โดยแพทย์หรือเภสัชกรอาจปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวานด้วย เช่น ยาอินซูลิน ยาไกลเมพิไรด์ ยาไพโอกลิตาโซน เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานถั่วขาวก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากถั่วขาวอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และอาจแทรกแซงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างหรือหลังการผ่าตัดได้