วิธีการใส่สายยางให้อาหารสายยาง ทางจมูก !การให้อาหารทางสายยาง มีอยู่สองรูปแบบที่นิยมทำกันมาก็คือ การให้อาหารทางสายยางทางรูจมูกและทางหน้าท้อง (เจาะกระเพาะอาหาร) ถือเป็นการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหาร แม้ว่าจะไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วย สำหรับการใส่สายยางเข้าไปในกระเพาะอาหาร โดยผ่านเข้าทางรูจมูก ไปสู่หลอดอาหาร จนถึงกระเพาะอาหาร
ซึ่งต้องทำโดยผู้ดูแลที่มีความเชี่ยวชาญ การใส่สายยางเข้าไปในรูจมูกมีวัตถุประสงค์หลายอย่าง ไม่เพียงแต่ให้อาหารแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะใส่สายยางเพื่อดูดหรือระบายน้ำย่อย และก๊าซออกจากกระเพาะอาหาร ลดอาการแน่นท้องของผู้ป่วย หรือเพื่อดูดน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมาตรวจ รวมไปถึงการใส่สายยางเพื่อใส่สารละลายในการล้างกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่รับประทานสารพิษ หรือยาเกินขนาดด้วย ซึ่งผู้ดูแลจะต้องมีขั้นตอนการเตรียมอุปกรณ์ในการใส่สายยางให้อาหารเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยให้เรียบร้อยก่อน การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทางจมูกก่อนใส่จะต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ของการใส่และวิธีการใส่ให้ผู้ป่วยรับทราบและเข้าใจ และควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถาม ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดีเพื่อความร่วมมือขณะใส่สายและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยด้วย
สำหรับขั้นตอนและวิธีการใส่สายยางให้อาหารเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ก่อนพยาบาลหรือผู้ดูแลจะใส่สายยางให้อาหาร จะต้องทำการวัดความยาวของสายยาง เพื่อที่จะใส่สายยางให้ปลายสายอยู่ที่กระเพาะอาหารพอดี ต้องไม่สั้นหรือยาวเกินไป โดยวัดจากปลายจมูกถึงติ่งหูถึงลิ้นปี่ สำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ในการใส่สายยาง ได้แก่ สายที่ใส่ทางจมูกหรือทางปาก ทำด้วยสายโพลีเอทิลีนหรือซิลิโคน ขนาด 12-18 French , Luer-Lok syringe หรือ syringe feed ขนาด 50-60 cc , ชามรูปไต ขนาดใหญ่ 1 ใบ , สารหล่อลื่นชนิดละลายน้ำได้ เช่น K-Y jelly หรือ xylocain jelly ,Stethoscope ,พลาสเตอร์ , ถุงมือ dispossable หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว ต้องดูว่าผู้ป่วยถนัดข้างไหน ขวาหรือซ้าย
สำหรับผู้ที่ถนัดขวา เข้าทางด้านขวาของผู้ป่วย ส่วนผู้ที่ถนัดซ้ายให้เข้าทางซ้ายของผู้ป่วย ผู้ดูแลควรบอกให้ผู้ป่วยทราบถึงวัตถุประสงค์ในการใส่สายยางอย่างละเอียด ต่อมาจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนในท่านอนหงาย ศีรษะสูง ประเมินสภาพของผู้ป่วย โดยการตรวจดูรูจมูกที่จะใส่สายว่ามีสิ่งอุดตัน หรือมีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้นก็สวมถุงมือ และทำการวัดความยาวของสายยาง ที่จะใส่จากปลายจมูกถึงติ่งหู และจากติ่งหูจนถึงลิ้นปี่ ทำเครื่องหมายหรือติดพลาสเตอร์ไว้ ดัดปลายสายยาง ให้โค้งงอประมาณ 4- 6 นิ้ว เพื่อให้ง่ายต่อการใส่สายขณะผ่าน จากรูจมูกเข้าไปในหลอดอาหาร หล่อลื่นปลายสายยางด้วย K-Y jelly หรือ xylocain jelly ยาวประมาณ 4 นิ้ว นับจากปลายสายด้านที่จะใส่เข้าไปในจมูกผู้ป่วย สอดปลายสายยาง เข้าทางรูจมูกข้างใดข้างหนึ่งที่เตรียมไว้ อย่างเบามือ
เมื่อปลายสายถึงคอหอย (ผู้ใส่จะรู้สึกว่าปลายสายไปชนอะไรบางอย่าง และดันสายไม่เข้า) ก็ให้บอกผู้ป่วยช่วยกลืนน้ำลาย พร้อมกับผู้ใส่ดันสายยางเบาๆ จนถึงตำแหน่งที่ทำเครื่องหมายไว้ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอ หรือสำลัก ให้หยุดใส่และดึงสายออกก่อน เพราะปลายสายอาจจะเข้าไปในหลอดลมได้ หลังจากนั้นควรติดยึดสายยางไว้กับข้างแก้มชั่วคราว ตรวจสอบปลายสายว่าเข้าไปในกระเพาะอาหารโดย ให้ผู้ป่วยอ้าปากดูว่า มีสายขดม้วนอยู่ในปากหรือไม่ ผู้ดุแลสามารถตรวจสอบได้โดยใช้หูฟัง ฟังที่บริเวณลิ้นปี่ของผู้ป่วย โดยใช้ syringe feed ดันลมประมาณ 10-30 มล. ผ่านสายยางเร็วๆ หากได้ยินเสียง แสดงว่าปลายสายอยู่ในกระเพาะอาหารแล้ว
สำหรับการตรวจสอบปลายสายให้อาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลจะต้องปฏิบัติก่อนให้อาหารทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าปลายสายอาหารอยู่ในกระเพาะอาหาร และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการที่ปลายสายให้อาหารเลื่อนออกมานอกกระเพาะอาหาร จากนั้นติดพลาสเตอร์ยึดสายยางกับสันจมูก เพื่อยึดติดไม่ให้สายยางเลื่อนออกจากตำแหน่งที่ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและผลกระทบต่างๆ