Doctor At Home: ผื่นพีอาร์ (PR/Pityriasis rosea)ผื่นพีอาร์ (ผื่นกลีบกุหลาบ ก็เรียก) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของคนทั่วไป มักพบในวัยรุ่น และผู้ใหญ่อายุ 15-40 ปี พบในชายและหญิงเท่า ๆ กัน
เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายและหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และจะไม่เป็นซ้ำอีก
สาเหตุ
โรคนี้ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด สันนิษฐานว่าผื่นที่ผิวหนังอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส (กลุ่ม herpes virus) ซึ่งไม่มีการติดต่อสู่ผู้อื่น
อาการ
ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามตัว โดยที่ไม่มีอาการไข้ และสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี
แรกเริ่มจะมีผื่นแดงรูปร่างกลมรี ขอบชัด มีเกล็ดบาง ๆ ที่ขอบของผื่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-6 ซม. จำนวน 1 ผื่นที่ผิวหนัง โดยมากมักจะขึ้นตรงหน้าอก บางรายอาจขึ้นที่หลัง ผื่นอันแรกนี้เรียกว่า ผื่นแจ้งโรค (herald patch)
หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีผื่นลักษณะเดียวกัน ขนาดเล็กกว่า (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.5 ซม.) ค่อยทยอยขึ้นตามมา อาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นเหล่านี้จะขึ้นที่หน้าอก หน้าท้อง และอาจขึ้นที่หลัง ต้นแขน ต้นขา
ในเด็กอาจมีผื่นขึ้นที่ใบหน้า มือ เท้า
ผื่นมักจะหายไปได้เองภายใน 2-6 สัปดาห์ (บางรายอาจหายใน 3-4 เดือน)
ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้มักหายได้เอง โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง นอกจากอาการคันมาก
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ถ้าพบผู้ป่วยในระยะแรก อาจตรวจพบผื่นแจ้งโรค 1 อัน (บางรายอาจมีมากกว่า 1 อัน) อาจทำให้นึกว่าเป็นโรคกลาก ต่างกันที่ผื่นพีอาร์จะไม่คันมากและไม่ลุกลาม
ถ้าพบผู้ป่วยระยะที่มีผื่นขึ้นทั้งตัว จะพบผื่นแดง รูปร่างกลมรีจำนวนมาก โดยแกนตามยาว (ของวงรี) จะเรียงขนานกับร่องผิวหนัง (cleavage line) ทำให้ด้านหน้า (หน้าอก หน้าท้อง) ดูลักษณะเป็นรูปตัว T และด้านหลังดูลักษณะคล้ายต้นคริสต์มาส หากพบผื่นในลักษณะนี้ ควรตรวจหาผื่นแจ้งโรคที่มีขนาดใหญ่กว่าผื่นอันอื่น ๆ บางรายอาจพบมากกว่า 1 อัน บางรายอาจไม่พบ "ผื่นแจ้งโรค" ก็ได้
ถ้าสงสัยว่าอาจเป็นโรคเชื้อรา แพทย์จะขูดเอารอยโรคไปตรวจหาเชื้อรา
การรักษาโดยแพทย์
โรคนี้หายเองได้ และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ แพทย์เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการ แล้วรอเวลาให้หายเอง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนัง ควรใช้สบู่อ่อน (เช่น สบู่เหลว สบู่เด็ก) ในการล้างทำความสะอาดร่างกาย
2. ถ้าคันให้ทาคาลาไมน์ หรือครีมสเตียรอยด์ (ครีมสเตียรอยด์ นอกจากช่วยลดอาการคันแล้ว ยังอาจช่วยให้หายเร็วขึ้น) ถ้าคันมาก หรือทำให้นอนไม่หลับให้กินยาแก้แพ้
3. ถ้าผื่นไม่ทุเลาใน 6 สัปดาห์ หรือสงสัยเป็นโรคอื่น เช่น ซิฟิลิส ผื่นแพ้ยา เป็นต้น ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด ในรายที่สงสัยเป็นซิฟิลิส อาจต้องเจาะเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL)
ในรายที่เป็นผื่นพีอาร์ที่เป็นมากและเรื้อรัง แพทย์อาจให้การรักษาโดยวิธีฉายแสงอัลตราไวโอเลตบี (UVB) ทุกวัน จะช่วยให้ผื่นหายเร็วขึ้น
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นผื่นพีอาร์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา ใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรให้ผิวหนังได้ถูกแดด (อาบแดด) อ่อนๆ นานวันละ 10-15 นาที (ผู้ที่แพ้แดดควรหลีกเลี่ยงการถูกแดด) มีส่วนช่วยให้โรคทุเลาเร็วขึ้น
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการคันมาก หรือดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่จำเป็นต้องแยกผู้ป่วยหรือห้ามใกล้ชิดกับผู้อื่น
2. ในรายที่เป็นไม่มาก เช่น มีอาการคันเล็กน้อย อาจไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาแต่อย่างใด และรอให้หายเองได้ภายใน 2-6 สัปดาห์
3. ควรแยกอาการผื่นพีอาร์ออกจากโรคอื่น ๆ เช่น ผื่นแจ้งโรค ต้องแยกออกจากโรคกลาก ส่วนผื่นแดงทั่วตัวต้องแยกจากโรคซิฟิลิส ระยะออกดอก ผื่นแพ้ยา ไข้ออกผื่น (มักมีไข้เป็นสำคัญ) เช่น หัด หัดเยอรมัน เป็นต้น